SOLGEN จัดโครงการปลูกป่าชายเลนทดแทนคุณแผ่นดินและปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม

สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไปได้จัดโครงกาปลูกป่าชายเลนทดแทนคุณแผ่นดินและปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม
เมื่อวันเสาร์ที่ 27 มกราคม 2567 ณ บ้านสระบัว ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาฯ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการ และมีนักศึกษา บุคลากรมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช เข้าร่วมจำนวน 60 คน

สำหรับโครงการที่ได้จัดขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สนับสนุนกิจกรรมอาสาพัฒนาชุมชน และส่งเสริมการดำรงอยู่ซึ่งวัฒนธรรมการประมงท้องถิ่นด้วยการปลูกป่าชายเลนร่วมกับชุมชน พร้อมทั้งตอบสนองโครงการมหาวิทยาลัยสีเขียวและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในเป้าหมายที่ 14 (อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) และ 15 (ปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบกอย่างยั่งยืน) ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 

สำนักวิชาฯ หวังจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาพื้นที่ป่าชายเลนให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และเกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อชุมชนในพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป

SOLGEN จัดโครงการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมเกาหลี เพื่อเรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม

สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป ได้จัดโครงการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมเกาหลี เพื่อเรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม เมื่อวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2566 เป็นกิจกรรมทำอาหารเกาหลี ณ ห้องครัวปฏิบัติการ 1 ศูนย์ฝึกปฏิบัติการอาหารวลัยลักษณ์ วิทยากรโดยคุณ Jeong Seungeun อาจารย์แลกเปลี่ยนจากประเทศเกาหลี มาช่วยสอนทำอาหารเกาหลี (ต็อกโบกี)  และเมื่อวันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม 2566 เป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเกาหลี เรียนรู้การละเล่นเกมเกาหลีและแต่งกายชุดประจำชาติเกาหลี (ฮันบก) ณ ห้องภาษาพาสาร อาคารวิชาการ 5 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีนักศึกษาที่เรียนรายวิชา GED65-114 ภาษาต่างประเทศและวัฒนธรรม และนักศึกษาต่างชาติที่สนใจเข้าร่วมประมาณ 80 คน โดยผู้เข้าร่วมได้ร่วมกันทำอาหาร เล่นเกม และแต่งกายชุดเกาหลี พร้อมถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ทำให้นักศึกษาได้ฝึกฝนภาษาเกาหลีจากเจ้าของภาษาและได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมเกาหลีผ่านกิจกรรมที่จัดขึ้น

กิจกรรม ติว ต่อ เติม แต้ม รายวิชาศึกษาทั่วไป 1/2566

สาขาวิชาการศึกษาทั่วไป ได้จัดกิจกรรมติว ต่อ เติม แต้ม ประจำภาคการศึกษาที่ 1/2566 ให้กับนักศึกษาที่เรียนในรายวิชาศึกษาทั่วไป ในรูปแบบออนไลน์ก่อนสอบกลางภาค ในช่วงวันที่ 17 – 19 กรกฎาคม 2566 และก่อนสอบปลายภาค ในช่วงวันที่ 30 สิงหาคม – 6 กันยายน 2566 ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “SOLGEN ติว ต่อ เติม แต้ม” ทั้งหมด 6 รายวิชา ดังนี้ 
1.ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารร่วมสมัย
2.เทคนิคการสื่อสารในสังคมร่วมสมัย
3.ปรัชญา จริยศาสตร์ และวิธีคิดแบบวิพากษ์
4.การแสวงหาความรู้และระเบียบวิธีวิจัย
5.การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสภาวะโลกร้อน
6.นวัตกรรมและผู้ประกอบการ

มีนักศึกษาเข้าร่วมฟังร่วมการติว รวมทุกวิชามากกว่า 2,000 คน และ ผลการประเมินความพึงพอใจของนักศึกษาในการเข้าติวอยู่ในเกณฑ์ดีมาก (คะแนนประเมินมากว่า 4.67)

ดูภาพบรรยากาศได้ด้านล่างนี้

Tutoring Activities

มวล.จับมือชุมชน-รัฐ-เอกชน ร่วมศึกษาประวัติชุมชนกรุงชิง

โครงการศึกษาเรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติพื้นที่กรุงชิงโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ร่วมกับชุมชน อบต. เจ้าหน้าที่ป่าไม้ โรงเรียน องค์กรเอกชน และบุคคลที่สนใจจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนโดยชุมชนมีส่วนร่วม ผลการประชุมได้ตกลงที่จะดำเนินการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนกรุงชิงร่วมกัน

วันเสาร์ที่ 2 กันยายน 2566 และวันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน 2566 ที่กรุงชิงโฮมสเตย์ แอนด์รีสอร์ท ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช คณะวิจัยของโครงการศึกษาเรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติพื้นที่กรุงชิงโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนประกอบด้วย ผศ.ดร.วิทยา อาภรณ์ อาจารย์ปกรณ์สิทธิ์ ฐานา สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป  รศ.ดร.อรอนงค์ เฉียบแหลม สำนักวิชาการจัดการ และดร.สัจจารีย์ ศิริชัย สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ พร้อมนักวิจัยชาวบ้านรวมทั้งสิ้น 8 คน ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ร่วมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ความสำคัญ แนวคิดและวิธีการในการจัดทำประวัติศาสตร์ชุมชนของกรุงชิง”ขึ้น  โดยมีวิทยากรพิเศษจากมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธ์คือ ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม และ ดร.อาภาภิรัตน์ วัลลิโภดม  มีผู้เข้าร่วมการอบรมจากหลายฝ่ายจำนวน 65 คนคือ ชาวบ้านในตำบลกรุงชิง ครูจากโรงเรียนในตำบลกรุงชิง 4 โรง เจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติเขานันและอุทยานแห่งชาติเข้าหลวง เจ้าหน้าที่องค์การบริการส่วนตำบลกรุงชิง ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและธุรกิจเอกชนในตำบลกรุงชิง เครือข่ายเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช เจ้าหน้าที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผู้ที่กำลังจะศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี พังงา และนครศรีธรรมราช และผู้สนใจทั่วไป โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่สนใจกรุงชิงและทราบข่าวจึงติดต่อขอมาร่วมอบรมด้วย

เนื้อหาของการอบรม ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม และ ดร.อาภาภิรัตน์ วัลลิโภดม วิทยากรพิเศษจากมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธ์ได้บรรยายถึงแนวคิดและวิธีการในการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน  รวมทั้งได้ยกประสบการณ์การศึกษาและประยุกต์ใช้ประวัติศาสตร์ชุมชนในพื้นที่อื่นทั้งในและต่างประเทศให้ผู้เข้าร่วมทราบ  ต่อมาได้มีการระดมความต้องการของฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาประวัติชุมชนกรุงชิง  พบว่าแต่ฝ่ายเห็นประโยชน์ของการศึกษาประวัติชุมชนที่จะมีต่อการดำเนินงานของตน  นอกจากนี้พบว่ามีหลายฝ่ายที่ได้เริ่มศึกษาประวัติของชุมชนบ้างแล้ว เช่น โรงเรียน  ซึ่งต้องจัดการเรียนการสอนหลักสูตรท้องถิ่นให้แก่เด็กนักเรียน  บางคนมีการเก็บรวบรวมเครื่องมือเครื่องใช้เชิงวัตถุวัฒนธรรมไว้บ้างแล้ว

ผลจากการประชุม  ที่ประชุมได้ตกลงที่จะศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนกรุงชิงร่วมกัน  โดยจะนัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 21 ตุลาคม 2566 ที่วัดบ่อน้ำร้อน ตำบลกรุงชิง ในวันดังกล่าวจะมีการพิจารณากรอบคำถาม แนวทางในการเก็บข้อมูล การจัดตั้งศูนย์ข้อมูล  เป็นต้น

SOLGEN จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเทคนิคการเขียนเรซูเม่อย่างมืออาชีพ

 
เมื่อวันพุธที่ 16 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป (SOLGEN) ร่วมกับชมรมนักศึกษาสำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป (SOLGEN Student Club) ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเทคนิคการเขียนเรซูเม่อย่างมืออาชีพ เพื่อพัฒนาทักษะนักศึกษาในการเขียนเรซูเม่ในรูปแบบที่ถูกต้องและเหมาะสม สำหรับเตรียมความพร้อมในการสมัครงาน
 
ในการอบรม นักศึกษาจะได้เรียนรู้ความสำคัญ รูปแบบ และองค์ประกอบของเรซูเม่ รวมถึงรายละเอียดที่พึงระวัง เช่น การใช้ภาพ การใช้ภาษา การจัดหน้ากระดาษ รวมถึงวิธีการคัดเลือกเนื้อหาที่โดดเด่นและสอดคล้องกับตำแหน่งงานที่ต้องการสมัคร เพื่อสร้างจุดแข็งในเรซูเม่ พร้อมไปกับการฝึกเขียนเรซูเม่ของตนเอง เมื่อสิ้นสุดการอบรมนักศึกษาจะได้ร่างเรซูเม่ส่วนบุคคลสำหรับนำไปพัฒนาเป็นเรซูเม่สำหรับสมัครงานต่อไป
ภายในงานมีการประกวดเขียนเรซูเม่ โดยมีรายชื่อผู้ได้รับรางวัล ดังนี้
 
1. นางสาวอทิตยา สงวนทรัพย์ สำนักวิชาการจัดการ
2. นางสาวนันทัชพร แสงสุวรรณ สำนักวิชาการจัดการ
3. นางสาววิรุฬกานต์ สวัสดิ์วงษ์สกุล สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์
4. นางสาวปริฌา ชุมสังข์ สำนักวิชารัฐศาสตร์
5. นางสาวอารียา อาตมาตร์ สำนักวิชารัฐศาสตร์
6. นางสาวหัสวาณีย์ บุหลาด สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
7. นางสาวฮุสนา พลหลา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
8. นางสาวฉันชนก โสแก้ว สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์

SOLGEN จัดค่ายพักแรมเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เทอม 1/66

สาขาวิชาศึกษาทั่วไป สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป รายวิชา GED65-147 ได้จัดค่ายพักแรมเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยนำนักศึกษาจำนวน 58 คนเข้าร่วมโครงการค่ายพักแรมเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวัดประเมินผลรายวิชา โดยจัดกิจกรรมขึ้นที่ป่าชุมชน “อ่าวอ้ายยอ” ตำบลน้ำตก อำเภอทุ่งสง
จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 19-20 สิงหาคม 2566 โดยได้รับความอนุเคราะห์สถานที่จากองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำตกและคณะวิทยากรดำเนินกิจกรรมต่างๆในค่ายพักแรมจากกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 42 อำเภอทุ่งสง ทั้งนี้นักศึกษาได้ทำกิจกรรมที่สำคัญคือการร่วมกับชุมชนเพื่อช่วยซ่อมแซมฝายทดน้ำร่วมกับคณะกรรมการป่าชุมชนและกิจกรรมศึกษาเส้นทางธรรมชาติด้วยการเดินป่า ศึกษาระบบนิเวศและพืชสมุนไพรต่าง ๆ ในป่าดิบชื้นของป่า “อ่าวอ้ายยอ” ซึ่งยังคงสภาพความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าไว้เป็นอย่างดี

กิจกรรมดังกล่าวมุ่งเน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้อยู่อาศัยใช้ชีวิตกลางแจ้งร่วมกันเป็นหมู่คณะเพื่อฝึกความอดทนและความยากลำบากท่ามกลางวิกฤตโลกร้อนจากสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายลงการให้นักศึกษาได้ใช้ชีวิตและเห็นคุณค่าตระหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเป็นการปลูกจิตสำนึกให้นักศึกษาหวงแหนและรักทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป

อาจารย์ SOLGEN นำทีมวิจัยลงพื้นที่มอบความรู้สู่ชุมชน

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2566 ผู้ช่วยศาสตราจารย์เจนจิรา แก้วรัตน์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ่งเรือง จันทา ร่วมกับชุมชนประมงท้องถิ่น บ้านปากพญา จัดกิจกรรม “การอบรมการเพิ่มศักยภาพชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวบ้านปากพญา” และ “กิจกรรมให้ความรู้เรื่องไลเคนและการสำรวจไลเคนบริเวณป่าชายเลน” ณ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนประมงท้องถิ่น บ้านปากพญา อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมากจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) ​2566 โดยมีผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน หัวหน้ากลุ่มแปรรูปและผู้ที่สนใจ เข้าร่วมอบรมประมาณ 20 คน มีการให้ความรู้และฝึกปฏิบัติเพื่อให้ชุมชนได้เสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มต่อไป

SOLGEN จัดโครงการวันแม่ 2566

เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 10 สิงหาคม 2566 คณะทำงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้จัดทำโครงการ “วันแม่ประจำปี 2566” นำโดยอาจารย์กนกกาญจน์ เมืองแก้ว และคณะทำงาน ร่วมกันนำสิ่งของเพื่อบริจาคให้กับสถานสงเคราะห์บ้านเขาฝ้าย ณ สถานสงเคราะห์บ้านเขาฝ้าย อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช 

อาจารย์ SOLGEN ถ่ายทอดข้อมูลการใช้ประโยชน์ลูกจันทน์เทศและการอนุรักษ์พันธุกรรมของลูกจันทน์เทศ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ลักษณ์นารา ขวัญชุม และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชวินภัช ศรีสงคราม อาจารย์สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป ได้ลงพื้นที่เพื่อจัดประชุมและถ่ายทอดข้อมูลเกี่ยวกับการเพิ่มศักยภาพการใช้ประโยชน์ลูกจันทน์เทศร่วมกับการอนุรักษ์พันธุกรรมของลูกจันทน์เทศ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ณ ห้องประชุมเทศบาลร่อนพิบูลย์ อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเรื่องตำรับยาลูกจันทน์เทศ คือท่านเภสัชกร พณรัญชน์ พลภักดี มีผู้สนใจเข้าร่วมงาน 40 คน ท่านวิทยากรได้บรรยายถึงสรรพคุณและประโยชน์ของลูกจันทน์เทศ ในตำรับยาแผนโบราณ 100 ตำรับยาจะมีส่วนผสมของลูกจันทน์เทศ ถึง 70 ตำรับ เช่น เป็นยาลม ยาแก้ระบบทางเดินอาหาร ยาแก้ปวด ยาบำรุงโลหิตสตรี ยาหอม ยารักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น การจัดประชุมถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประโยชน์และสรรพคุณทางยาของลูกจันทน์เทศนี้ ทำให้ชาวบ้านตระหนักถึงการอนุรักษ์ รักษา และรณรงค์ที่จะปลูกป่าต้นจันทน์เทศให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบนิเวศ การมีทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน และทดแทนป่าไม้ที่ถูกทำลายไป รวมถึงการส่งผลระยะยาวโดยภาพรวมที่ดีต่อสภาพสิ่งแวดล้อมและโลกของเราอย่างยั่งยืน

ลูกจันทน์เทศ SDG